โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ยาลดการหลั่งกรด (PPI) สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น


วันนี้ชั้นเรียน SR เป็นชั่วโมงวาดภาพสีน้ำและปั้นดินเหนียวเสียค่อนวัน ผมจึงมีเวลามาขลุกอยู่ในเล้าไก่หรือโรงเก็บเครื่องมือ (shed) ถือโอกาสถ่ายรูปดอกไม้ที่ข้างโรงเก็บเครื่องมือมาให้ดูเล่น และตอบจดหมายนี้จากเล้าไก่  อนึ่ง..โปรดสังเกตตู้ไปรษณีย์เหล็กดึกดำบรรพ์จากอังกฤษ (ของปลอม)

เรียนคุณหมอสันต์

ดิฉันอายุ 62 ปี เป็นคนผอม หนัก 42 กก. สูง 156 ซม. ไขมันในเลือดอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาตลอด คือ cholesterol ไม่เคยเกิน 150 เป็นคนออกกำลังกาย มีโรคประจำตัวโรคเดียวคือโรคกรดไหลย้อน กินยารักษากรดไหลย้อนมาสามปีกว่า มียา Gaviscon และยา Omeprazol อย่างอื่นไม่ได้เป็นโรคอะไรเลย เป็นคนค่อนข้างระวังเรื่องการกิน แต่ไปตรวจสุขภาพปีนี้หมอเจาะเลือดแล้วบอกว่าเป็นเบาหวาน (FBS 128) ดิฉันงงมากว่าเป็นเบาหวานได้อย่างไร ครอบครัวพ่อแม่ปู่ยาตายายไม่มีใครเป็นเบาหวานเลย อยากถามคุณหมอว่าเหตุที่จะทำให้เป็นเบาหวานได้มีอะไรบ้าง และดิฉันควรจะทำตัวอย่างไรต่อไป

ขอบคุณค่ะ

………………………………………………

ตอบครับ

     1. ถามว่าเหตุที่จะทำให้เป็นเบาหวานได้มีอะไรบ้าง ตอบว่าจริงๆแล้ววงการแพทย์ก็ยังไม่รู้ชัดแจ้งร้อยเปอร์เซ็นต์ดอกว่าเบาหวานเกิดจากอะไรบ้าง รู้แต่ปัจจัยเสี่ยงที่มักพบร่วมหรือนำมาสู่การเป็นเบาหวานมีเก้าอย่าง อันได้แก่

 1. พันธุกรรม ซึ่งนับกันเฉพาะญาติสายตรง (พ่อ,แม่,พี่,น้อง,ปู่ ย่า ตา ยาย)

2. ความอ้วน

3. การไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

4. การมีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป

5. การอยู่ในภาวะใกล้เป็นเบาหวานมาก่อน

6. การเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

7. เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือมีลูกที่น้ำหนักแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม

8. เป็นโรคของตับอ่อน เช่น ตับอ่อนอักเสบ หรือได้รับการผ่าตัดตับอ่อน

9. ได้รับยาบางชนิดเช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิดบางชนิด ยารักษาไขมันในเลือดสูง ในกรณีของคุณนี้ยาลดการหลั่งกรด หรือ proton pump inhibitor (PPI) ที่คุณกินอยู่ (Omeprazol) เป็นตัวหนึ่งที่สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้น

     เนื่องจากข้อมูลที่ว่ายาลดการหลั่งกรดในกลุ่ม PPI สัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมากขึ้นนี้เป็นข้อมูลใหม่ คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ ผมขอแวะพูดถึงเรื่องนี้สักหน่อยเพื่อให้ท่านผู้อ่านทั่วไปได้ทราบด้วย งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ ในปี 2563 นี้เอง เป็นงานวิจัยที่ฮาร์วาร์ด โดยการเอาข้อมูลวิจัยติดตามดูผู้ป่วย 204,689 คนมาที่ถูกติดตามดูมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 ซึ่งก็คือตามกันมา 20 ปีแล้ว โดยนับคนที่กินยาลดการหลั่งกรดเกินสัปดาห์ละสองครั้งว่าเป็นกลุ่มกินยานี้ พบว่ามีคนเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ในระหว่างการติตดาม 10,105 คน เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างคนที่กินยาลดการหลั่งกรดกับคนที่ไม่กิน พบว่าคนที่กินยาลดการหลั่งกรดเป็นเบาหวานมากกว่าคนที่ไม่กิน 24%

     เมื่อวิเคราะห์ระยะเวลาที่ผู้เข้าร่วมวิจัยกินยาก็พบว่ายิ่งกินยานาน ยิ่งสัมพันธ์กับการเป็นเบาหวานมาก กล่าวคือถ้ากินยาลดการหลั่งกรดอยู่นานไม่เกิน 2 ปี โอกาสเป็นเบาหวานจะเพิ่มขึ้น 5% แต่ถ้ากินยานานเกินสองปีขึ้นไปโอกาสเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 26% โดยที่แม้จะแยกความแตกต่างทางเพศ ประวัติเบาหวานในครอบครัว การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล ชนิดของอาหารที่กิน การออกกำลังกาย ออกไปแล้ว ความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นเพราะยาต้านการหลั่งกรดนี้ก็ยังอยู่

     หลักฐานวิจัยใหม่ที่เกิดขึ้นบ่งชี้ไปในทางว่ากลไกที่ยาลดการหลั่งกรดทำให้เป็นเบาหวานนี้คงเป็นเพราะยาไปเปลี่ยนชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ (microbiome) 

     2. ถามว่าควรจะทำอย่างไรต่อ ตอบว่าก็หยุดยา omeprazol เสียสิครับ แล้วหันไปรักษาโรคกรดไหลย้อนด้วยวิธีที่ได้ผลดีกว่าการใช้ยา ได้แก่

      2.1 ยกหัวเตียงให้สูงขึ้น 8 นิ้ว ด้วยการเอาหนังสือหรือก้อนอิฐเสริมขาเตียงด้านศีรษะทั้งสองขาให้สูงขึ้น หรือไปซื้อฟูกรักษากรดไหลย้อน ซึ่งมีลักษณะสูงข้างบนต่ำข้างล่างมาปูทับที่นอนเดิม เมืองไทยนี้ก็มีขาย ทั้งนี้อย่าหวังพึ่งการหนุนหมอนหลายใบแทนเพราะมันไม่ช่วยแก้ปัญหากรดไหลย้อนนะครับ

     2.2 ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่แสลงต่อโรคกรดไหลย้อน เช่น 

     (1) อาหารไขมันสูงทุกชนิด ของผัดทอด เพราะมันกระตุ้นฮอร์โมนบีบท่อน้ำดี (cholecystokinin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดปลายหลอดอาหารคลายตัวและทำให้อาหารอ้อยอิ่งอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้นและย้อนขึ้นมาได้ง่ายขึ้น 

     (2) หอมใหญ่ 

     (3) มะเขือเทศ    

     (4) งานวิจัยพวกที่ชอบดื่มชาเป็ปเปอร์มินท์ก็พบว่าเป็นกรดไหลย้อนมากกว่าคนไม่ดื่ม 

     (5) น้ำส้มคั้น เพราะงานวิจัยพบว่าน้ำส้มคั้นทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนซึ่งอาจจะเป็นเพราะกรดในตัวน้ำส้มนั่นเอง 

     (6) ชอกโกแล็ต เพราะมันมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหูรูดปลายล่างหลอดอาหารได้ นอกจากนั้นมันทำมาจากโกโก้ซึ่งมีสารทีโอโบรมีนและคาเฟอีนและฮอร์โมนซีโรโทนินซึ่งล้วนคลายกล้ามเนื้อหูรูดได้ 

     (7) พริก เพราะงานวิจัยพบว่าสาร capsaicin ในพริกออกฤทธิ์ชลอการย่อยอาหารและทำให้อาหารผ่านออกจากกระเพาะช้าลง ไม่นับว่าตัวพริกเองมีความร้อนแรงสามารถระคายเคืองเยื่อบุหลอดอาหารได้อีกต่างหาก 

     (8) เกลือ เพราะงานวิจัยพบว่าคนยิ่งชอบกินเค็มมาก ยิ่งเป็นกรดไหลย้อนมาก 

     (9) แอลกอฮอล์ เพราะมันทั้งออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหูรูด ทั้งกระตุ้นการหลั่งกรด และตัวมันเองก็เป็นสารระคายเคืองเยื่อบุ 

     (10) น้ำอัดลม งานวิจัยทำที่เกาหลีพบว่าคนดื่มน้ำอัดลมมีความเสี่ยงเกิดอาการกรดไหลย้อนมากกว่าคนไม่ดื่ม 69% 

     (11) นม เพราะงานวิจัยพบว่านมเป็นอาหารที่เพิ่มอาการกรดไหลย้อน

     2.3 เลิกนิสัยกินจนอิ่มเต็มที่ ควรหยุดกินตั้งแต่อีกห้าหกคำจะอิ่มก็หยุดได้แล้ว และ 3 ชั่วโมงก่อนเวลานอน รูดซิบปาก ห้ามกิน เพราะกินใกล้เวลานอนซึ่งเป็นเวลาที่กระเพาะหยุดเคลื่อนไหวอาหารจะแช่อยู่ในกระเพาะไม่ไปไหนแล้วย้อนขึ้นมาง่าย

     2.4 จัดการความเครียด เพราะมันมีผลทั้งทำให้การหลั่งกรดในกระเพาะมากขึ้นซึ่งทำให้กรดไหลย้อนรุนแรงขึ้น และมีผลทั้งทำให้โรคหัวใจขาดเลือด (ถ้าคุณเป็นจริง) มีอาการมากขึ้น ดังนั้นคุณต้องถือเอาการจัดการความเครียดเป็นวาระแห่งชาติ ความเครียดเกิดจากความคิด ให้คุณฝึกวางความคิด อ่านที่ผมเขียนตอบไปเรื่องการทำสมาธิวางความคิด ผมตอบไปบ่อยมาก ให้หาอ่านย้อนหลังแล้วทดลองปฏิบัติด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Jinqiu Yuan, Qiangsheng He, Long H Nguyen, Martin C S Wong, Junjie Huang, Yuanyuan Yu, Bin Xia, Yan Tang, Yulong He, Changhua Zhang. Regular use of proton pump inhibitors and risk of type 2 diabetes: results from three prospective cohort studies. Gut, 2020; gutjnl-2020-322557 DOI: 10.1136/gutjnl-2020-322557