โรคหัวใจ

คู่มือรักษาตัวเอง ตอนที่ 1. โรคหัวใจขาดเลือด

(ช่วงโควิด19นี้มีจดหมายถามเรื่องการดูแลตัวเองในโรคเรื้อรังต่างๆเข้ามาแยะมาก เพราะหมอนัดแล้วไปรพ.ไม่ได้ก็กลัวว่าตัวเองจะมีอันเป็นไปจึงอยากจะรู้วิธีดูแลตัวเองไว้บ้าง พอผมเห็นเป็นคำถามซ้ำซากจึงบอกว่าให้ไปอ่านเองในบล็อกหมอสันต์ บางท่านก็หายไปพักหนึ่งแล้วก็เขียนกลับมาอีกว่าไม่รู้ว่าเรื่องโรคของตัวเองควรจะเลือกอ่านตรงไหน เพราะในบล็อกหมอสันต์มีเรื่องต่างๆเยอะเหลือเกิน ซึ่งผมเห็นด้วยเพราะตัวผมเองบางครั้งอยากหาเรื่องที่ตัวเองเขียนไปแต่ก็หาไม่เจอ จะจัดหมวดหมู่ก็ยากเพราะการตอบจดหมายแต่ละฉบับถามกันมาหลายข้อหลายระบบไม่รู้จะเอาจดหมายไปเข้าระบบไหน จึงใช้วิธีปล่อยไปตามกรรมไม่จัดอะไรทั้งสิ้น แต่เมื่อมีจดหมายซ้ำซากเข้ามามากก็เกิดความคิดว่าควรจะทะยอยเขียนบทความสักชุดหนึ่ง เรียกว่า “คู่มือรักษาตัวเอง” ก็แล้วกัน โดยทะยอยเขียนเป็นตอน ตอนละหนึ่งโรค กว่าเรื่องโควิด19จะเลิกรากันไปก็คงจะได้อย่างน้อยสักสิบตอนซึ่งก็พอที่จะครอบคลุมโรคเรื้อรังที่พบบ่อยส่วนใหญ่ได้ โดยจะเริ่มต้นด้วยโรคหัวใจก่อน ต่อไปวันหน้าใครถามโรคอะไรมาซ้ำซากผมก็จะได้เชิญให้ไปอ่านคู่มือรักษาตัวเองตอนที่เกี่ยวกับโรคนั้นได้เลย)

………………………………………………………….

คู่มือรักษาโรคด้วยตนเอง ตอนที่ 1. โรคหัวใจขาดเลือด

     
นิยามโรคหัวใจขาดเลือด

     โรคนี้มีสองชนิด คือ

     ชนิดที่ 1. โรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่ด่วน (stable angina) คือภาวะที่มีไขมันพอกผนังหลอดเลือดหัวใจเป็นตุ่มแล้วค่อยๆใหญ่ขึ้นจนขัดขวางการไหลของเลือดจนมีอาการเจ็บหน้าอกเมื่อออกแรง แต่ครั้นพักการออกแรงนานไม่เกิน 20 นาทีอาการก็หายไป สามารถดำเนินชีวิตได้ต่อไปตามปกติ บางครั้งจึงเรียกการเจ็บหน้าอกชนิดนี้ว่าเจ็บหน้าอกแบบไม่ด่วน

     ชนิดที่ 2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) คือ เมื่อโรคเป็นมากขึ้น ตุ่มไขมันที่ใหญ่ได้ที่จะแตกออกแล้วมีลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นมาอุดตันหลอดเลือดตรงนั้น ทำให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกต่อเนื่องแม้เวลาผ่านไปนานเกิน 20 นาทีแล้วก็ไม่หายเจ็บเพราะกล้ามเนื้อเริ่มขาดเลือดและตายลง หากไม่สามารถแก้ไขเอาลิ่มเลือดออกทันที ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิต

     ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือด

     โรคหัวใจขาดเลือดเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ทราบแต่ว่าหากมีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้จะทำให้มีโอกาสเป็นโรคมากขึ้น หรือเป็นแล้วมีความรุนแรงมากขึ้น คือ

1. สูบบุหรี่
2. ความดันเลือดสูง
3. ไขมันเลว (LDL) ในเลือดสูงผิดปกติ
4. มีพันธุกรรมบรรพบุรุษสายตรงเสียชีวิตด้วยโรคนี้ตั้งแต่อายุน้อย
5. เป็นโรคเบาหวาน
6. ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
7. มีความเครียดเรื้อรังหรือเฉียบพลัน
8. มีการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกาย [1]
9. มีการคั่งของสารชื่อโฮโมซีสเตอีนในร่างกาย [2, 3] ที่เป็นผลจากการขาดวิตามินบี.12

     การวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด

     วิธีที่ 1. การวินิจฉัยด้วยตนเอง 

     กรณีที่ 1. โรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่ด่วน (stable angina)  วินิจฉัยจากการมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขณะกำลังออกกำลังกาย หรือกำลังเครียดหรือมีอารมณ์รุนแรง หากพักสักครู่ ไม่เกิน 20 นาที อาการ

     กรณีที่ 2. โรคหัวใจขาดเลือดแบบด่วนหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI)  วินิจฉัยจากการมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เกิดขึ้นแล้วเจ็บต่อเนื่องไม่หายไป ทั้งนี้อาจเกิดได้ทั้งขณะออกกำลังกาย หรือขณะพักอยู่ก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่เมื่อเจ็บหน้าอกแล้วพักนานถึง 20 นาทีแล้วก็ยังไม่หายเจ็บ ให้วินิจฉ้ยตัวเองว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องไปโรงพยาบาลทันที

    วิธีที่ 2. การวินิจฉัยโดยแพทย์และโรงพยาบาล 

    กรณีที่ 1. โรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่ด่วน (stable angina) แพทย์วินิจฉัยขั้นต้นจากการฟังคำบอกเล่าอาการเจ็บแน่นหน้าอกมานานไม่เกิน 20 นาทีแล้วอาการหายไปเองเมื่อได้พัก เมื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ได้ผลปกติ แต่เมื่อให้ตรวจสมรรถนะของหัวใจด้วยการเดินสายพาน (EST) แล้วได้ผลเป็นบวก นอกจากนี้ยังมีวิธีตรวจเพื่อช่วยการวินิจฉัยอื่นๆเช่น การตรวจแคลเซียมในหลอดเลือด (CAC) และการตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยคอมพิวเตอร์ (CTA) การตรวจการทำงานกล้ามเนื้อหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (fMRI) ขณะที่การตรวจสวนหัวใจ (CAG) เป็นการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคนี้ในขั้นสุดท้าย

    กรณีที่  2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI)  แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้จากเมื่อมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกต่อเนื่อง แม้จะพักนานเกิน 20 นาทีแล้วก็ยังไม่หายเจ็บ ร่วมกับเมื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) พบว่าผิดปกติคือมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่น ST และเมื่อเจาะเลือดตรวจเอ็นไซม์ของหัวใจแล้วก็พบว่ามีระดับสูงผิดปกติ และเมื่อตรวจสวนหัวใจแบบฉุกเฉินแล้วพบว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของหลอดเลือดหัวใจถูกอุดตันไป

    การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดด้วยตนเอง

     หลักฐานวิจัยที่ใช้วิธีติดตามตรวจสวนหัวใจ ตรวจการทำงานของหัวใจด้วย fMRI และเปรียบเทียบอัตราการเกิดจุดจบที่เลวร้ายหลังการรักษา พบว่าโรคหัวใจขาดเลือดเป็นโรคที่ถอยกลับได้หากได้รับการรักษาตัวเองที่ถูกวิธี [4-8]

     กรณีที่ 1. การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่ด่วน (stable angina) 
   
     คือเมื่อเจ็บหน้าอกแต่พักไม่เกิน 20 นาทีแล้วอาการหายไป ควรรักษาตัวเองดังนี้

     1. เมื่อเจ็บหน้าอก ให้พักการออกแรงสักครู่ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆยาวๆพร้อมกับผ่อนคลายร่างกาย หากอาการเจ็บหน้าอกหายไป ให้ค่อยๆออกกำลังกายใหม่ได้ในระดับที่เบากว่าเดิม แล้วเริ่มลงมือรักษาตัวเองโดยเปลี่ยนวิธีชีวิตอย่างสิ้นเชิงในประเด็นต่อไปนี้ คือ

     2. ถ้าสูบบุหรี่ ให้เลิกสูบบุหรี่ทันทีแบบหักดิบ
   
     3. ตรวจวัดความดันเลือด ถ้าพบว่าความดันเลือดสูงเกิน 120/80 ให้ลดความดันเลือดลงด้วยตัวเอง โดยการ     
     (1) ถ้าอ้วน ให้ลดน้ำหนักลง โดยหากลดน้ำหนักลงได้ 10 กก. ความดันตัวบนจะลดลงได้ถึง 20 มม. ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์พอดี โดยให้ดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.5-25 กก./ตรม.
     (2) เปลี่ยนอาหารจากอาหารแบบเดิมมากินอาหารที่มีพืชมาก (DASH diet) ความดันตัวบนจะลดลงได้ถึง 14 มม.
     (3) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ความดันตัวบนจะลดลงได้ถึง 9 มม.
     (4) ลดเกลือในอาหารลงให้เหลือระดับจืดสนิท ความดันตัวบนจะลดลงได้ถึง 8 มม.
     (5) หากดื่มแอลกอฮอล์มากให้ลดลงมาเหลือระดับพอควรคือวันละไม่เกิน 2 ดริ๊งค์ ความดันตัวบนจะลดลงมาได้อีก 4 มม.
     ในกรณีที่มีเหตุให้ลดความดันเลือดด้วยตัวเองไม่สำเร็จและความดันเลือดยังสูงกว่า 130/80 ควรไปพบเแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยยาลดความดัน
   
     4. เจาะเลือดตรวจระดับไขมันเลว (LDL) ในเลือด หากพบว่า LDL สูงกว่า 70 มก./ดล. หรือโคเลสเตอรอลรวมสูงกว่า 200 มก./ดล.ให้ลดไขมัน LDL ในเลือดลงให้เหลือต่ำกว่า 70 มก./ดล. หรือโคเลสเตอรอลรวมให้เหลือต่ำกว่า 150 มก./ดล. โดยการเปลี่ยนอาหารจากเดิมมากินแต่พืชในรูปแบบไขมันต่ำ (low fat plant-based diet) ไม่กินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย หรือกินให้น้อยที่สุด ขณะเดียวกันโดยในแต่ละวันควรจะได้กินผักและผลไม้เป็นปริมาณมาก คืออย่างน้อยให้ได้ผักผลไม้รวมกันวันละ 5 เสริฟวิ่ง ขึ้นไป   

     ในกรณีที่มีเหตุให้เปลี่ยนอาหารอย่างเต็มที่ไม่ได้และไขมันเลวในเลือดไม่ลดลงตามเป้าหมาย ควรกินยาลดไขมันกลุ่มสะแตติน (statin) ควบคู่ไปด้วย โดยการปรับขนาดยาลดไขมันตามผลเลือดที่ได้จากการกินยาติดต่อกันอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ให้เหลือยาขนาดต่ำที่สุดเท่าที่จะทำให้ไขมัน LDL อยู่ระดับต่ำกว่า 70 มก./ดล.ได้ ทั้งนี้ในผู้ป่วยบางรายพบว่าจำเป็นต้องใช้ยาในขนาดต่ำมาก เช่น atorvastatin ในขนาดสัปดาห์ละ (ไม่ใช่วันละ) 5 มก. เป็นต้น (ขนาดปกติคือวันละ 10-80 มก.)

    5. เจาะเลือดตรวจดูน้ำตาลในเลือด หากพบว่าน้ำตาลในเลือด (FBS) สูงระดับ 100 มก./ดล.ขึ้นไป หรือน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดสูงเกิน 5.7% ขึ้นไป ให้ลงมือป้องกันและรักษาเบาหวานด้วยตัวเอง ด้วยการเปลี่ยนอาหารจากเดิมมากินแต่พืชในรูปแบบไขมันต่ำ (low fat plant-based diet) ไม่กินเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย หรือกินให้น้อยที่สุด เน้นอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ มีกากมาก และเป็นอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ

     ในกรณีที่มีเหตุให้การปรับเปลี่ยนอาหารไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดลงต่ำถึงเป้าหมายได้ และทำอย่างไรน้ำตาลในเลือดก็ยังสูงเกิน 125 มก./ดล. หรือน้ำตาละสะสมสูงเกิน 6.5% ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยยารักษาเบาหวาน
     5. เริ่มต้นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือ

     (1) ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่นเดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง เต้น ทำงานขุดดินทำสวน ให้ถึงระดับหนักพอควร คือออกแรงให้มีอาการหอบเหนื่อยแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้ แต่ยังพูดได้ สัปดาห์ละอย่างน้อย 150 นาที
     (2) ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หรือเล่นกล้าม  อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในแต่ละครั้งควรได้ฝึกความแข็งแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อสำคัญทุกกลุ่มโดยใช้ท่าฝึกกล้ามเนื้อแบบมาตรฐาน แต่ละท่าทำอย่างน้อย 1-3 เซ็ต แต่ละเซ็ททำซ้ำอย่างน้อย 8-15 ครั้ง
     (3) ในกรณีที่เป็นผู้สูงวัย ควรเพิ่มการออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัวไปด้วย
     (4) เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตให้มีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทั้งวัน โดยอาจใช้วิธีติดเครื่องนับก้าวไว้เตือนตัวเองให้เคลื่อนไหว ในแต่ละวันควรเคลื่อนไหวได้วันละประมาณ 10,000 – 15,000 ก้าว หรือมากกว่านั้นยิ่งดี

     6. เริ่มลงมือจัดการความเครียดของตัวเองอย่างเป็นระบบ เน้นที่การฝึกวางความคิด ด้วยเทคนิคเช่น (1) การผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกาย (2) การดึงความสนใจออกมาจากความคิด (3) การเอาความสนใจจดจ่อที่ลมหายใจ (4) การเอาความสนใจจดจ่อที่ความรู้สึกบนผิวกาย (5) การกระตุ้นตัวเองให้ตื่นอยู่เสมอ (6) การยอมรับทุกอย่างตามที่มันเป็น (7) การสอบสวนความคิดเพื่อทิ้งความคิด (8)  การฝึกสมาธิ (8) การฝึกรำมวยจีน (9) การฝึกโยคะภาวนา

     7. ในกรณีที่เป็นผู้กินอาหารมังสวิรัติเข้มงวด ควรกินวิตามินบี.12 ทดแทนในอัตราวันละ 50 ไมโครกรัมหรือสัปดาห์ละ 500 ไมโครกรัม เพราะอาหารพืชไม่มีวิตามินบี.12 ซึ่งหากขาดจะนำไปสู่การคั่งของโฮโมซีสเตอีนในร่างกายอันเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการเป็นโรคนี้ ในกรณีที่ไม่อยากกินวิตามินหรืออาหารเสริมใดๆ อย่างน้อยก็ควรตรวจระดับวิตามินบี.12 และโฮโมซีสเตอีนในเลือดทุก 5 ปี หากพบว่าโฮโมซีสเตอีนสูงหรือวิตามินบี.12 ต่ำก็ควรกินวิตามินบี.12 ทดแทน

    8. ควรประเมินความรุนแรงของอาการเจ็บหน้าอกต่อคุณภาพชีวิตเป็นระยะๆ ในกรณีที่อาการเจ็บหน้าอกมีผลต่อคุณภาพชีวิตมาก เช่นเจ็บหน้าอกบ่อยจนทำกิจประจำวันหรือเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่ชื่นชอบไม่ได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสวนหัวใจโดยมีเป้าหมายจะทำการรักษาแบบรุกล้ำเช่นใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดถ่าง (PCI) หรือทำการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ เพราะในกรณีที่อาการเจ็บหน้าอกมีผลต่อคุณภาพชีวิตมากจนคุณภาพชีวิตเสียไป ประโยชน์ที่จะได้จากการรักษาแบบรุกล้ำมีมากกว่าความเสี่ยงจากผลแทรกซ้อนของการรักษา

     แต่ในกรณีที่อาการเจ็บหน้าอกมีผลต่อคุณภาพชีวิตน้อย ไม่ควรเลือกวิธีรักษาแบบรุกล้ำเพราะความเสี่ยงจากผลแทรกซ้อนจากการรักษามีมากกว่าประโยชน์ที่จะได้ เพราะว่าการรักษาโรคหัวใจขาดเลือดชนิดไม่ด่วนแบบรุกล้ำมีประโยชน์ในแง่ของการปรับปรุงคุณภาพชีวิตเท่านั้น โดยที่ความยืนยาวของชีวิตนั้นไม่ต่างกันไม่ว่าจะเลือกรักษาแบบรุกล้ำหรือไม่ [9-13] นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าแม้ผลต่อคุณภาพชีวิตซึ่งวัดจากอาการเจ็บหน้าอกและความสามารถในการออกกำลังกายหลังการรักษา ก็มีงานวิจัยบางชิ้นยืนยันว่ามันเป็นผลจากความมั่นใจว่าอาการของตัวเองจะหายเพราะการได้ทำอะไรรุกล้ำ (placebo effect) ไม่ใช่ผลของการรักษาแบบรุกล้ำอย่างแท้จริง [14]

    กรณีที่  2. การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (acute MI) 
     คือเมื่อเจ็บหน้าอกนานติดต่อกันเกิน 20 นาทีแล้วไม่หาย รักษาโดย

     1. เคี้ยวยาแอสไพรินขนาด 325 มก. จำนวนสี่เม็ด แล้วกลืนน้ำตาม

     2. ไปโรงพยาบาลทันที ควรไปโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถตรวจสวนหัวใจ (CAG) และทำการเปิดหลอดเลือดแบบฉุกเฉินด้วยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดและใส่ขดลวดถ่าง (PCI) ได้ ระยะเวลาจากเริ่มเจ็บหน้าอกจนถึงได้รับการเปิดหลอดเลือดควรสั้นกว่า 90 นาทีจึงจะลดอัตราตายได้มากที่สุด หากระยะเวลาดังกล่าวนานกว่า 12 ชั่วโมงการรักษาฉุกเฉินมักไม่สามารถลดอัตราตายของผู้ป่วยลงได้

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

บรรณานุกรม

1. Libby P, Ridker PM, and Maseri A. Inflammation and Atherosclerosis. Circulation. 2002;105:1135–1143
2. Graham IM, Daly LE, Refsum HM, et al.: Plasma homocysteine as a risk factor for vascular disease. The European Concerted Action Project. JAMA 1997, 277:1775–1781.
3. Stampfer MJ, Malinow MR, Willett WC, et al.: A prospective study of plasma homocysteine and risk of myocardial infarction in US physicians. JAMA 1992, 268:877–881.
4. Ornish D, Brown SE, et al. Can lifestyle changes reverse coronary heart disease. The Lancet 1990fb 336: 129-33 1990.
5. Ornish D, et. al. Intensive lifestyle changes for reversal of coronary heart disease. JAMA 1998; 280(23): 2001-2007 1998
6. Esselstyn CB Jr, Ellis SG, Medendorp SV, Crowe TD. A strategy to arrest and reverse coronary artery disease: a 5-year longitudinal study of a single physician’s practice. J Fam Pract 1995;41:560 –568.
7. Esselstyn CB Jr. Updating a 12-year experience with arrest and reversal therapy for coronary heart disease (an overdue requiem for palliative cardiology). Am J Cardiol 1999;84:339 –341.
8. Esselstyn CB Jr. Resolving the coronary artery disease epidemic through plant-based nutrition. Prev Cardiol 2001;4:171–177.
9. Hueb W, Lopes N, Gersh BJ, Soares PR, Ribeiro EE, Pereira AC, et al. Ten-year follow-up survival of the Medicine, Angioplasty, or Surgery Study (MASS II): a randomized controlled clinical trial of 3 therapeutic strategies for multivessel coronary artery disease. Circulation. 2010;122(10):949–957.
10. Weintraub WS, Spertus JA, Kolm P, Maron DJ, Zhang Z, Jurkovitz C, et al. For the COURAGE Trial Research Group. Effect of PCI on quality of life in patients with stable coronary disease. N Engl J Med. 2008;359(7):677–687.
11. BARI 2D Study Group. Frye RL, August P, Brooks MM, Hardison RM, Kelsey SF, MacGregor JM, et al. A randomized trial of therapies for type 2 diabetes and coronary artery disease. N Engl J Med. 2009;360(24):2503–2515.
12. Boden WE, O’Rourke RA, Teo KK, et al. Optimal medical therapy with or without PCI for stable coronary disease. N Engl J Med. 2007;356:1503–16. [PubMed]
13. International Study of Comparative Health Effectiveness with Medical and Invasive Approaches (ISCHEMIA) [2018 Feb 15]. Available from: https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT01471522.
14. Al-Lamee R, Thompson D, Dehbi HM, Sen S, Tang K, Davies J, et al. ORBITA Investigators Percutaneous coronary intervention in stable angina (ORBITA): a double-blind, randomised controlled trial. Lancet. 2018;391(10115):31–40.