โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

Ep3: โรคความดันเลือดสูง (vdo หมอสันต์ชุดรักษาโรคด้วยตัวเอง)

https://www.youtube.com/watch?v=zrukLuJhwqs

สวัสดีครับ

ผม สันต์ ใจยอดศิลป์ นะครับ

เทปนี้เป็น episode ที่ 3 ในชุดรักษาโรคด้วยตัวเอง ครั้งนี้เราจะคุยกันถึงเรื่องการรักษาโรคความดันเลือดสูง ท่านอาจจะเคยเข้าใจว่าโรคความดันเลือดสูงต้องให้หมอรักษาให้เท่านั้น นั่นเป็นความเข้าใจผิดนะครับ 90% ของโรคเป็นส่วนที่ตัวผู้ป่วยเป็นผู้รักษาเพราะโรคความดันเลือดสูงเกิดจากอาหารและการใช้ชีวิตการจะแก้ต้นเหตุต้องแก้ที่อาหารและการใช้ชีวิต ส่วนที่หมอจะเป็นผู้รักษาให้นั้นเป็นเพียง 10% ของโรค ซึ่งเป็นส่วนการใช้ยาแก้ปลายเหตุและการรักษาภาวะแทรกซ้อน เพราะว่าในปัจจุบันนี้เราไม่มียาอะไรที่จะไปรักษาให้โรคความดันเลือดสูงหายได้ น้ำหนักจึงมาตกที่การรักษาด้วยตนเองที่เราจะคุยกันในวันนี้เป็นเรื่องหลัก

ความดันเลือดคืออะไร
   
     ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับความดันเลือดหน่อย มันคือแรงดันที่เพิ่มขึ้นในหลอดเลือดขณะที่หัวใจอัดเลือดเข้าไปในระบบหลอดเลือด ซึ่งวัดออกมาได้สองค่า คือความดันตัวบน (systolic BP) ซึ่งวัดขณะหัวใจบีบตัว และความดันตัวล่าง (diastolic pressure) ซึ่งวัดขณะหัวใจคลายตัว

นิยามโรคความดันเลือดสูง

     ความดันเลือดปกติ (normal BP) คือเมื่อความดันเลือดต่ำกว่า 120/80 มม.
     ความดันเพิ่มขึ้น (elevated BP) คือเมื่อความดันสูงผิดปกติแต่ยังต่ำกว่า 130/80
     เป็นโรคความดันเลือดสูงระยะที่หนึ่ง เมื่อความดันสูงตั้งแต่ 130/80 ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 140/90
     เป็นโรคความดันสูงระยะที่สอง เมื่อความดันเลือดสูงตั้งแต่ 140/90 ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 180/120
     เป็นโรคความดันสูงวิกฤติ (Hypertensive crisis) เมื่อความด้นสูงตั้งแต่ 180/120 ขึ้นไป

การวินิจฉัยความดันเลือดสูง

     โรคความดันเลือดสูงสามารถวินิจฉัยด้วยตนเองที่บ้านได้ โดยการวัดความดันเลือดด้วยเครื่องวัดความดันแบบอัตโนมัติที่ได้รับการรับรองจากอย.แล้ว งานวิจัย PAMELA พบว่าการวัดความดันที่บ้านและที่โรงพยาบาลมีความแม่นยำที่ประเมินจากความสัมพันธ์กับการดำเนินของโรคไม่ต่างกัน ในการวัดความดันควรวัดอย่างน้อยสองรอบ ห่างกันอย่างน้อยสองสัปดาห์

วิธีวัดความดันด้วยตนเองที่บ้าน

     นี่เป็นเครื่องวัดความดันอัตโนมัติ ซึ่งผมแนะนำมากว่าคนเป็นความดันเลือดสูงควรจะซื้อไว้เพราะมันเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากถ้ารู้จักใช้ ก่อนอื่นมาเรียนวิธีวัดความดันด้วยตัวเอง ผมจะทำให้ดูนะ

     1. จะต้องงดสูบบุหรี่และงดดื่มกาแฟอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนการวัดความดัน กาแฟไม่มีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคความดันเลือดสูง แต่การดื่มกาแฟก่อนวัดความดันจะทำให้ได้ค่าความดันสูงกว่าความเป็นจริง
     2. เข้าห้องสุขา ขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระให้เรียบร้อยก่อนวัดความดัน เพราะความดันเลือดจะสูงกว่าความเป็นจริงหากกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระ
     3. ไม่ควรรีบวัดความดันเมื่อเพิ่งเดินทางมาถึงหรือเมื่อเพิ่งออกกำลังกายมาใหม่ๆ การออกกำลังกายมีผลต่อความดันเลือดได้สองทาง คือทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นหากเป็นการออกแรงแบบรีบร้อนลนลาน หรือทำให้ความดันเลือดลดลงหากเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกระดับหนักพอควรแต่ผ่อนคลาย
เพิ่งรีบหรือเพิ่งออกกำลังกายมา
     4. ในการวัดความดันให้นั่งหลังตรง แขนพาดบนโต๊ะ
     5. ถลกแขนเสื้อขึ้นให้พ้นแขนข้างที่จะวัด การวัดทั้งๆที่สวมเสื้อแขนยาวอยู่ หากเป็นเสื้อที่ตัดเย็บจากผ้าหนา ผลของความดันที่ได้จะต่ำกว่าความเป็นจริง
     6. เอาคัฟพองลม (cuff) พันรอบแขนส่วนต้น ให้คัฟอยู่ระหว่างข้อสอกและรักแร้
     7. หายใจเข้าออกธรรมดา ไม่ต้องกลั้นหายใจ
     8. กดปุ่มวัด (ON) แล้วรอให้เครื่องทำงานซึ่งใช้เวลานานประมาณหนึ่งนาที เมื่อทำงานจบแล้วเครื่องจะรายงานออกมาเป็นตัวเลข  3 ตัว คือ (1) ความดันตัวบน (2) ความดันตัวล่าง (3) ชีพจร (อัตราการเต้นของหัวใจ) ให้จดบันทึกค่าทั้งสามไว้
     9. กดปุ่มวัดรอบต่อไป ทำอย่างนี้จนครบสามรอบ
     10. เอาค่าที่ได้จากสามรอบมาหารเฉลี่ย มีวิธีเฉลี่ยหลายแบบ แบบที่นิยมกันมากคือเอาค่าวัดครั้งแรกทิ้งไปก่อน เอาค่าที่สองกับค่าที่สามมาบวกกันและหารสองออกมาเป็นค่าเฉลี่ย หรือจะให้ง่ายกว่านั้น ท่านเลือกเอาค่าที่ท่านพอใจที่สุดก็ได้ นั่นก็คือเอาค่าที่วัดได้ต่ำที่สุดนั่นแหละเป็นค่าจริง เพราะความดันเลือดที่สัมพันธ์กับจุดจบที่เลวร้ายของโรคคือความดันเส้นพื้นฐาน base line หมายความว่าความดันที่ไม่ได้เกิดจากอะไรกระตุ้นระหว่างทำกิจกรรมหรือระหว่างการวัด ดังนั้นการเลือกใช้ค่าต่ำที่สุดก็เป็นวิธีที่ยอมรับได้เหมือนกัน
     11. ไม่จำเป็นต้องวัดความดันบ่อยเกินไป หากอยู่ในระหว่างการรักษาเปลี่ยนยาลดความดัน ให้วัดความดันหนึ่งครั้งต่อสองสัปดาห์ หากความดันคงที่แล้วและไม่มีแผนจะเปลี่ยนขนาดยา ให้วัดเดือนละครั้งก็พอ สำหรับคนที่ผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคความดันเลือดสูง วัดปีละครั้งก็พอ

วิธีรักษาโรคความดันเลือดสูงด้วยตัวเอง

     การรักษาโรคความดันเลือดสูง เริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเสมอ ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยยา การปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเพื่อรักษาความดันเลือดสูงทำได้โดย

     1. กรณีที่มีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน ให้มุ่งที่การลดน้ำหนักลง คนเป็นโรคความดันเลือดสูงให้ถือคติว่าผอมดีกว่าอ้วน คนที่น้ำหนักเกินหรืออ้วนหากลดน้ำหนักลงได้ 10 กก. ความดันตัวบนจะลดลงได้สูงสุดถึง 20 มม.

     2. ต้องเปลี่ยนอาหาร เพราะโรคความดันเลือดสูงเป็นโรคที่เกิดจากอาหาร จึงต้องเปลี่ยนอาหารที่กินอยู่เดิมมากินอาหารที่มีไขมันต่ำมีแคลอรี่ต่ำและมีผักและผลไม้มากๆ หากกินอาหารมังสะวิรัติเลยได้ยิ่งดี สถาบันสุขภาพแห่งชาติอเมริกันได้วิจัยอาหารลดความดัน (DASH diet) ที่เน้นการกินผักผลไม้ ถั่ว นัท และกินอาหารโปรตีนที่ไม่มีไขมันติดมาด้วย รวมทั้งปลา อาหารทะเล นมไร้ไขมัน โดยลดน้ำมันและน้ำตาลลงเหลือแต่น้อย อาหารชนิดนี้เป็นอาหารยอดนิยมติดต่อกันมาหลายปี และงานวิจัยอาหารแบบนี้พบว่าช่วยลดความดันตัวบนลงได้ถึง 14 มม.

     นอกจากนี้ควรสนใจอาหารพืชที่ลดความดันได้โดดเด่น เช่น แฟล็กซีด (ป่นสองกินช้อนโต๊ะต่อวันลดความดันตัวบนได้สูงสุด 15 มม) บีทรูท (น้ำปั่น 500 ซีซี.วันละสองครั้งลดความดันตัวบนได้ 5 มม. ผักชีฝรั่ง เป็นต้น คนเป็นโรคความดันเลือดสูงควรกินอาหารในกลุ่มนี้เป็นอาหารประจำวัน

      3. เริ่มต้นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ กล่าวคือ

     (1) ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่นเดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง เต้น ทำงานขุดดินทำสวน ให้ถึงระดับหนักพอควร คือออกแรงให้มีอาการหอบเหนื่อยแฮ่กๆจนร้องเพลงไม่ได้ แต่ยังพูดได้ สัปดาห์ละอย่างน้อย 150 นาที

     (2) ออกกำลังกายแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หรือเล่นกล้าม  อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในแต่ละครั้งควรได้ฝึกความแข็งแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อสำคัญทุกกลุ่มโดยใช้ท่าฝึกกล้ามเนื้อแบบมาตรฐาน แต่ละท่าทำอย่างน้อย 1-3 เซ็ต แต่ละเซ็ททำซ้ำอย่างน้อย 8-15 ครั้ง

     (3) ในกรณีที่เป็นผู้สูงวัย ควรเพิ่มการออกกำลังกายเพื่อเสริมการทรงตัวไปด้วย

     (4) เปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตให้มีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวทั้งวัน โดยอาจใช้วิธีติดเครื่องนับก้าวไว้เตือนตัวเองให้เคลื่อนไหว ในแต่ละวันควรเคลื่อนไหวได้วันละประมาณ 10,000 – 15,000 ก้าว หรือมากกว่านั้นยิ่งดี

     การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความดันตัวบนลงได้ถึง 9 มม.
 
     4. การลดเกลือในอาหารลงให้เหลือระดับจืดสนิท (ไม่เกิน 1500 กรัมของเกลือแกงต่อวัน) จะลดความดันตัวบนลงได้มากถึง 8 มม.

     นอกจากนี้ควรพิจารณาการทดแทนเกลือแกง (โซเดียม) ด้วยเกลือลดความดัน (โปตัสเซียม) อนึ่ง เนื่องจากโปตัสเซียมมีมากในอาหารผักผลไม้การกินผักผลไม้ให้มากขึ้นก็เป็นวิธีได้เกลือโปตัสเซียมอีกทางหนึ่ง

     5. ถ้าดื่มแอลกอฮอล์อยู่มากกว่าวันละสองดริ๊งค์ ให้ลดลงมาเหลือระดับไม่เกินวันละสองดริ๊งค์ หรือเลิกดื่มแอลกอฮอลไปเลย จะลดความดันตัวบนลงได้อีกถึง 4 มม.

     6. เริ่มลงมือจัดการความเครียดของตัวเองอย่างเป็นระบบ เพราะความดันเลือดสูงส่วนหนึ่งเป็นผลจากการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งผูกโยงอยู่กับการสนองตอบต่อสิ่งคุกคาม เมื่อเครียดความดันเลือดก็สูงขึ้น

      การจัดการความเครียดให้เน้นที่การฝึกวางความคิด ด้วยเทคนิคเช่น (1) การผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่างกาย (2) การดึงความสนใจออกมาจากความคิด (3) การเอาความสนใจจดจ่อที่ลมหายใจ (4) การเอาความสนใจจดจ่อที่ความรู้สึกบนผิวกาย (5) การกระตุ้นตัวเองให้ตื่นอยู่เสมอ (6) การยอมรับทุกอย่างตามที่มันเป็น (7) การสอบสวนความคิดเพื่อทิ้งความคิด (8)  การฝึกสมาธิ (8) การฝึกรำมวยจีน (9) การฝึกโยคะภาวนา

     หลักฐานวิจัยสนับสนุนให้มุ่งลดความดันเลือดด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตแทนการใช้ยา เช่น

     งานวิจัยความเสี่ยงโรคหัวใจคนหนุ่มสาว (CARDIA)[1] ซึ่งตามดูคนหนุ่มสาว 5,115 คน นาน 15 ปี พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการกินพืช (ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ ถั่ว นัท) กับการลดความดันเลือด เป็นความสัมพันธ์แบบยิ่งกินมากยิ่งลดมาก (dose dependent) ขณะเดียวกันก็พบความสัมพันธ์ในทางตรงข้ามกับการบริโภคเนื้อสัตว์ คือยิ่งกินเนืื้อสัตว์มาก ยิ่งมีความดันเลือดสูงขึ้นมาก

     งานวิจัยในยุโรป (EPIC trial)[2] ซึ่งวิเคราะห์คนอังกฤษ 11,004 คนพบว่าในบรรดาคนสี่กลุ่ม คือกลุ่มกินเนื้อสัตว์ กลุ่มกินปลา กลุ่มมังสะวิรัติ กลุ่มกินเจ (vegan) พบว่ากลุ่มกินเนื้อสัตว์มีความดันสูงสุด กลุ่มกินเจหรือ vegan มีความดันต่ำสุด

     งานวิจัยยำรวมข้อมูลติดตามสุขภาพพยาบาล (NHS) และบุคลากรแพทย์ (HPFS) ของฮาร์วาร์ด [3] ซึ่งมีคนถูกติดตาม 188,518 คน (2,936,359 คนปี) พบว่าการกินเนื้อสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งปูปลากุ้งหอยเป็ดไก่ไข่นม ล้วนสัมพันธ์กับการเป็นความดันเลือดสูง

การบริหารยาความดันเลือดสูงด้วยตนเอง

     รักษาความดันเลือดสูงด้วยยาเป็นสิ่งจำเป็นหากมีเหตุให้ปรับวิธีใช้ชีวิตไม่สำเร็จหรือทำแล้วยังไม่สามารถลดความดันเลือดลงมาอยู่ในระดับปกติได้ การสั่งการรักษาด้วยยาทำโดยแพทย์เท่านั้น แต่ผู้ป่วยควรร่วมบริหารยาที่แพทย์สั่งด้วยตนเองเพื่อให้ได้ผลจากการใช้ยาสูงสุด งานวิจัยของฮาร์วาร์ด [4]ได้  ทำการทดลองรักษาความดันเลือดสูงโดยเอาบ้านของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เอาโรงพยาบาลเป็นที่่ตั้ง (home based treatment) ให้ผู้ป่วยวัดความดันตัวเองที่บ้านแล้วสื่อสารผ่านโทรศัพท์ หรือ on line กับผู้ช่วยแพทย์ทุกสองสัปดาห์เพื่อปรับยาโดยไม่ต้องนัดคนไข้มาโรงพยาบาล พบว่าวิธีนี้อัตราการควบคุมความดันเลือดได้สำเร็จเพิ่มจาก 50% หากรักษาในโรงพยาบาลขึ้นมาเป็น 81% เมื่อรักษาที่บ้าน นี่นับว่าเป็นวิธีรักษาความดันเลือดสูงที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดเท่าที่มีรายงานไว้ในวารสารการแพทย์ทั่วโลก

      วิธีที่ผู้ป่วยจะช่วยบริหารยาลดความดันของตัวเองคู่ขนานไปกับการปรับเปลี่ยนวิธีใช้ชืวิต คือ

     1. จะต้องทราบว่าตัวเองกินยาชื่ออะไรอยู่บ้าง แต่ละตัวกินขนาดเท่าใด และแต่ละตัวมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง เพราะผลข้างเคียงของยาลดความดันมักจะรุนแรง เช่น เป็นลมหมดสติ หรือลื่นตกหกล้มกระดูกหัก เป็นต้น
     2. วัดความดันเลือดตนเองที่บ้านทุกสองสัปดาห์
     3. จะต้องเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตก่อนที่จะคิดลดยา คือเปลี่ยนอาหาร ออกกำลังกาย จัดการความเครียดน้ำหน้าการลดยา จนเมื่อวัดความดันแล้วพบว่าลงมาต่ำอยู่ในระดับปกติอย่างต่อเนื่องจึงค่อยเริ่มการลดยา
     3. เมื่อความดันลงมาอยู่ในระดับปกติ (ต่ำกว่า 120/80) ต่อเนื่องกันเกิน 2 สัปดาห์ ให้ทดลองลดยาลดความดันลง โดยลดทีละตัว ตัวที่ลดให้ลดที่ละครึ่งโด้ส เช่นเดิมกินเม็ดละ 25 มก.วันละเม็ดก็ลดเหลือครึ่งเม็ด เป็นต้น แล้วกินยาในขนาดใหม่ไปนาน 2 สัปดาห์แล้ววัดความดันเพื่อประเมินผล หากความดันยังอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ลดขนาดลงไปอีก เช่นเหลือครึ่งเม็ดวันเว้นวัน แล้วอีก 2 สัปดาห์วัดความดันเพื่อประเมินผลอีก หากความดันยังอยู่ในเกณฑ์ปกติก็เลิกยาตัวนั้นไปได้ แล้วตามวัดดูอีกเมื่อครบ 2 สัปดาห์ หากความดันยังปกติก็เริ่มลดยาตัวที่สอง เป็นต้น
    4. ไม่ควรลดหรือเปลี่ยนขนาดยาภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ก่อนครบกำหนดนัดไปพบแพทย์
    5. เมื่อไปพบแพทย์ทุกครั้งจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบอย่างละเอียดว่า 2 สัปดาห์ก่อนหน้านั้นกินยาอยู่กี่อย่าง อย่างละกี่มก.
    6. ในกรณีที่วัดความดันที่บ้านได้ขึ้นๆลงๆในวันเดียวกัน ขึ้นก็สูงมาก ลงก็ต่ำมาก เมื่อครบกำหนดไปพบแพทย์ให้แสดงผลการวัดนั้นให้แพทย์ทราบด้วย เพราะมันหลักฐานอย่างดีที่แสดงถึงการผันแปรความดันในแต่ละวัน (diurnal variation) ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน นี่เป็นข้อมูลชี้เบาะแสว่าคนไข้สูงอายุที่ความดันผันแปรมากจะมีโอกาสจะลื่นตกหกล้มกระดูกหักมากหากแพทย์พยายามที่จะเอาความดันเลือดช่วงที่ขึ้นสูงลงมาต่ำมากเกินไป คนไข้อย่างนี้แพทย์จะยอมรับให้ความดันเลือดอยู่ไปทางข้างสูงเพราะกลุ่มนี้ลื่นตกหกล้มง่าย

     อนึ่ง ในการบริหารยาในผู้สุงอายุ ควรระวังไม่ให้ขนาดยามากเกินอันจะมีผลให้ความดันเลือดตกมากเกินไป กล่าวคือวิจัยหนึ่งชื่อ JATOS trial [6] ได้เอาคนเป็นความดันเลือดสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมาราว 4,400 คน จับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 2200 คน กลุ่มหนึ่งคุมเข้มให้ความดันตัวบนต่ำกว่า 140 มม. อีกกลุ่มหนึ่งปล่อยให้ขึ้นไปสูงกว่า 140 มม. แต่ไม่เกิน 150 มม. แล้วติดตามการป่วยและการตายไปสองปี ปรากฏว่าการป่วยและการตายไม่ได้ต่างกันเลย แถมตอนท้ายๆของงานวิจัยพวกที่ปล่อยให้ความดันสูงขึ้นไปถึง 150 ดูจะป่วยและตายน้อยกว่าเสียอีก

     อีกงานวิจัยหนึ่ง ชื่องานวิจัย VALISH [7]เขาเอาคนเป็นความดันสูงอายุเกิน 60 ปีมาสามพันกว่าคน จับฉลากแบ่งเป็นสองกลุ่มๆละ 1,630 คน กลุ่มหนึ่งกดความดันไว้ไม่ให้เกิน 140 มม.อีกกลุ่มหนึ่งปล่อยขึ้นไปได้ถึง 150 เช่นกัน แต่คราวนี้ตามดูถึงสามปี คราวนี้ผลแตกต่างกันชัดเจนว่าพวกที่หมอปล่อยให้ความดันสูงขึ้นไปได้ถึง 150 มม.ป่วยและตายน้อยกว่าพวกที่หมอกดความดันไว้ต่ำกว่า 140 มม.อย่างต่อเนื่อง
   
     อีกงานวิจัยหนึ่ง [8] ที่ยืนยันว่าความดันตัวบนที่ต่ำกว่า 110 มม.ในคนสูงอายุนั้นต่ำเกินไปและเป็นอันตราย คืองานวิจัยติดตามดูคนไข้ความดันเลือดสูงที่เอาประกันสุขภาพกับไกเซอร์เพอร์มาเนนเต้ในแคลิฟอร์เนียใต้ จำนวน 470,000 คนเป็นเวลานาน 1 ปี พบว่าคนไข้ที่วัดความดันตัวบนได้ต่ำกว่า 110 มม.แม้เพียงครั้งเดียว มีโอกาสลื่นตกหกล้มและเข้าห้องฉุกเฉินมากกว่าคนไข้ที่วัดความดันตัวบนได้สูงกว่า 110 มม.ทุกครั้งถึง 50%

     หลักฐานผลเสียของการความดันเลือดในคนสูงอายุลงมาต่ำเกินไปนี้ ได้ถูกนำมาทำเป็นแนวปฏิบัติของคณะทำงานร่วมรักษาความดันเลือดสูง JNC8 [9] เมื่อปีค.ศ. 2014 (ซึ่งต่อมาถูกทดแทนด้วยแนวปฏิบัติใหม่ในปี 2017)
  
สรุป

     วันนี้เราคุยกันถึงการรักษาโรคความดันเลือดสูงด้วยตัวเอง ตั้งแต่ทำความรู้จักว่าความดันมันเกิดจากไหน มีวิธีวัดอย่างไร เท่าใดจึงจะเรียกว่าสูง และเมื่อสูงแล้วเราต้องรักษาตัวเองอย่างไร ในกรณีที่ต้องใช้ยาเราต้องบริหารยาอย่างไร ทั้งหมดนี้ผมขอทวนซ้ำส่วนที่สำคัญที่สุดสองส่วนเท่านั้น

     ส่วนที่หนึ่ง คือการรักษาตัวเองเมื่อเป็นความดันเลือดสูง มีประเด็นสำคัญห้าอย่างคือ (1) ลดน้ำหนัก ไม่ให้อ้วน (2) ออกกำลังกาย (3) กินอาหารที่มีพืชผักผลไม้เป็นหลักและมีไขมันต่ำ (4) ลดเกลือในอาหารลง (5) ถ้าดื่มแอลกอฮอล์มากให้ลดหรือเลิกซะ

     ส่วนที่สอง คือการบริหารยาลดความดัน ซึ่งมีหลักว่า (1) ต้องรู้ชื่อ ขนาด และผลข้างเคียงของยาทุกตัว (2) ช่วงเปลี่ยนยาควรวัดความดันทุกสองสัปดาห์ (3) การจะลดยาต้องเปลี่ยนการกินการใช้ชีวิตจนความดันลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติก่อน จึงจะเริ่มลดยา (4) ลดทีละตัว แต่ละตัวลดทีละครึ่ง แล้วทอดเวลาประเมินผลนาน 2 สัปดาห์ จนเหลือขนาดต่ำมากเช่นครึ่งเม็ดวันเว้นวันแล้วก็หยุดยา (5) ก่อนไปหาหมอสองสัปดาห์ห้ามเปลี่ยนขนาดยา (6) เมื่อไปหาหมอแล้วต้องบอกหมอว่าได้ลดหรือเลิกยาอะไรไปบ้างตั้งแต่เมื่อไหร่ (7) ถ้าความดันที่บ้านขึ้นๆลงๆมาก หรือต่างกับที่รพ.มาก ต้องบอกหมอด้วย (8) ถ้าอายุมากไม่ควรให้ความดันตัวบนลงต่ำกว่า 110 มม.

      โอเค. เราคุยกันมานานพอควรแล้ว ได้เวลาจากกัน ไว้พบกันใน episode หน้า สวัสดีครับ

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์

…………………………………………….

บรรณานุกรม
1. Steffen LM, Kroenke CH, Yu X, et al. Associations of plant food, dairy product, and meat intakes with 15-year incidence of elevated blood pressure in young black and white adults: the Coronary Artery Risk Development in Young Adults (CARDIA) Study. Am J Clin Nutr. 2005;82:1169–1177.
2 Appleby PN, Davey GK, Key TJ. Hypertension and blood pressure among meat eaters, fish eaters, vegetarians and vegans in EPIC-Oxford. Public Health Nutr. 2002;5:645–654. [PubMed]
3. Borgi L, Curhan GC, Willett WC, et al. Long-term intake of animal flesh and risk of developing hypertension in three prospective cohort studies. J Hypertens. 2015;33:2231–2238.
4. Naomi D.L. Fisher, Liliana E. Fera, Jacqueline R. Dunning, Sonali Desai, Lina Matta, Victoria Liquori, Jaclyn Pagliaro, Erika Pabo, Mary Merriam, Calum A. MacRae, Benjamin M. Scirica. Development of an entirely remote, non-physician led hypertension management program. Clinical Cardiology, 2019; DOI: 10.1002/clc.23141
5. James PA, Oparil S, Carter BL, Cushman WC, Dennison-Himmelfarb C, Handler J, Lackland DT, LeFevre ML, MacKenzie TD, Ogedegbe O, Smith Jr SC, vetkey PL, Taler SJ, Townsend RR, Wright JTJr, Narva AS, Ortiz E. 2014 Evidence-Based Guideline for the Management of High Blood Pressure in Adults Report From the Panel Members Appointed to the Eighth Joint National Committee (JNC 8). JAMA. 2014;311(5):507-520. doi:10.1001/jama.2013.284427
6. JATOS Study Group.  Principal results of the Japanese trial to assess optimal systolic blood pressure in elderly hypertensive patients (JATOS). Hypertens Res. 2008;31(12):2115-2127.
7. Ogihara T, Saruta T, Rakugi H, Matsuoka H, Shimamoto K, Shimada K, Imai Y, Kikuchi K, Ito S, Eto T, Kimura G, Imaizumi T, Takishita S, Ueshima H, for the Valsartan in Elderly Isolated Systolic Hypertension (VARISH) Study Group. Target blood pressure for treatment of isolated systolic hypertension in the elderly: Valsartan in Elderly Isolated Systolic Hypertension study. Hypertension.2010; 56: 196–202
8. Kaiser Permanente. “How low is too low? Study highlights serious risks for intensive blood pressure control: Kaiser Permanente study finds aggressive blood pressure control efforts can lead to falls and fainting, especially in elderly patients.” ScienceDaily. ScienceDaily, 24 August 2018. .
9. James PA, Oparil S, Carter BL, Cushman WC, Dennison-Himmelfarb C, Handler J, Lackland DT, LeFevre ML, MacKenzie TD, Ogedegbe O, Smith SC Jr, Svetkey LP, Taler SJ, Townsend RR, Wright JT Jr, Narva AS, Ortiz E. 2014 evidence-based guideline for the management of high blood pressure in adults: report from the panel members appointed to the Eighth Joint National Committee (JNC 8). JAMA. 2014;311(5):507-20. doi: 10.1001/jama.2013.284427.
10. Paul K. Whelton, Robert M. Carey, Wilbert S. Aronow, Donald E. Casey, Karen J. Collins, Cheryl Dennison Himmelfarb, Sondra M. DePalma, Samuel Gidding, Kenneth A. Jamerson, Daniel W. Jones, Eric J. MacLaughlin, Paul Muntner, Bruce Ovbiagele, Sidney C. Smith, Crystal C. Spencer, Randall S. Stafford, Sandra J. Taler, Randal J. Thomas, Kim A. Williams, Jeff D. Williamson, Jackson T. Wright. 2017 ACC/AHA/AAPA/ABC/ACPM/AGS/APhA/ASH/ASPC/NMA/PCNA Guideline for the Prevention, Detection, Evaluation, and Management of High Blood Pressure in Adults: A Report of the American College of Cardiology/American Heart Association Task Force on Clinical Practice Guidelines. Hypertension. 2017;HYP.0000000000000066
……………………………………..